เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 8.อุปักขฏสิกขาบท พระบัญญัติ
ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน
แต่เธอเข้าไปหาคฤหัสถ์แล้วกำหนดชนิดจีวร จริงหรือ” พระอุปนันทศากยบุตรทูลรับ
ว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อุปนันทะ เขาเป็นญาติของ
เธอหรือไม่ใช่ญาติ”
ท่านพระอุปนันทะทูลตอบว่า “ไม่ใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ คฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติย่อมไม่รู้ความ
เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ของที่มีอยู่หรือไม่มีของคนผู้ไม่ใช่ญาติ โมฆบุรุษ เธอนั้น
ซึ่งพวกเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อนเข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติแล้วกำหนดชนิดจีวร
โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[528] ก็ คฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติ ตระเตรียมทรัพย์
เป็นค่าจีวร เจาะจงภิกษุว่า “เราจะซื้อจีวรด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้แล้ว นิมนต์
ภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร” ถ้าภิกษุนั้นซึ่งเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปกำหนด
ชนิดจีวรในที่ที่เขาเตรียมจีวรไว้ เพราะต้องการจีวรดีว่า “ดีละ ท่านจงซื้อจีวรเช่น
นั้นเช่นนี้ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้แล้วให้อาตมาครองเถิด” ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :52 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 8.อุปักขฏสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[529] คำว่า ก็...เจาะจงภิกษุ ได้แก่ เพื่อประโยชน์ของภิกษุ คือ มุ่ง
เฉพาะภิกษุ ปรารถนาจะให้ภิกษุครองจีวร
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดา
ตลอดเจ็ดชั่วคน
ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์ชาย ได้แก่ บุรุษผู้ครองเรือน
ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์หญิง ได้แก่ สตรีผู้ครองเรือน
ที่ชื่อว่า ทรัพย์เป็นค่าจีวร ได้แก่ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วตาแมว
แก้วผลึก ผ้า ด้ายหรือฝ้าย
คำว่า ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้ คือ ทรัพย์ที่เขาจัดหาไว้เฉพาะ
คำว่า ซื้อ ได้แก่ แลกเปลี่ยน
คำว่า ให้...ครอง คือ ถวาย
คำว่า ถ้าภิกษุนั้น...ในที่ที่เขาเตรียมจีวรไว้ ได้แก่ ภิกษุรูปที่เขาตระเตรียม
ทรัพย์เป็นค่าจีวรไว้ถวายโดยเฉพาะ
คำว่า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน คือ ทายกไม่ได้กล่าวไว้ก่อนว่า “ท่านผู้เจริญ
ท่านต้องการจีวรชนิดไหน กระผมจะซื้อจีวรชนิดไหนถวายท่าน”
คำว่า เข้าไป คือ ไปถึงเรือนแล้วเข้าไปหาที่ใดที่หนึ่ง
คำว่า กำหนดชนิดจีวร คือ กำหนดว่า ขอให้เป็นผ้ายาว กว้าง เนื้อแน่นหรือ
เนื้อละเอียด
คำว่า ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้ คือ ทรัพย์ที่เขาจัดหาไว้เฉพาะ
คำว่า เช่นนั้นเช่นนี้ คือ ยาวหรือกว้าง เนื้อแน่นหรือเนื้อละเอียด
คำว่า ซื้อ ได้แก่ แลกเปลี่ยน
คำว่า จงให้ครอง คือ จงถวาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :53 }